หากนำเศษอาหารที่แต่ละครัวเรือนบริโภคเหลือมาคำนวณในแต่ละเดือน เชื่อว่าจะมีปริมาณเศษอาหารนี้อยู่ไม่ใช่น้อย และย่อมเพิ่มเป็นปริมาณมหาศาลหากแต่ละเดือนจะรวมเอาเศษอาหารจากหมู่บ้าน ตำบล อำเภอ จังหวัด และประเทศเข้าด้วยกัน
ด้วยเหตุนี้เอง เราจึงจำเป็นต้องรณรงค์และใส่ใจกับเศษอาหารเหลือทิ้ง และเห็นคุณค่าของอาหารที่เราบริโภคกันมากขึ้น ทั้งนี้ มีหลักการง่าย ๆ ในการช่วยลดปริมาณขยะจากเศษอาหารที่เราสามารถทำกันได้ ดังนี้
วางแผนมื้ออาหารให้ชัดเจน
การวางแผนมื้ออาหารในแต่ละมื้อย่อมช่วยลดปริมาณอาหารเหลือทิ้งได้ เพราะหากเราซื้อผัก เนื้อสัตว์ และวัตถุดิบในการปรุงอาหารมาแล้วแต่ไม่ได้นำมาปรุงรับประทาน การปล่อยทิ้งไว้จนวัตถุดิบเหล่านั้นเน่าเสียจนต้องโยนทิ้งนั้น นอกจากจะสิ้นเปลืองแล้วยังเป็นการเพิ่มขยะเศษอาหารอีกด้วย
นำผักมาปลูกอีกรอบ
ผักหลาย ๆ ชนิด สามารถนำมาปลูกซ้ำได้ เช่น ต้นหอม แครอท มันฝรั่ง และผักสวนครัวอื่น ๆ อีกมากมาย วิธีนี้จะช่วยให้เราประหยัดค่าใช้จ่ายในการซื้อผักมากขึ้น แถมยังเป็นวิธีการลดขยะจากเศษอาหารที่ดีอีกด้วย
เรียนรู้วิธีการถนอมอาหาร
การถนอมอาหารเป็นอีกหนึ่งวิธีในการช่วยยืดอายุของอาหาร เพิ่มความหลากหลายในมื้ออาหารมากขึ้น และยังช่วยประหยัดเงิน ลดปริมาณการซื้ออาหารและวัตถุดิบมากักตุนไว้ ซึ่งอาจเกิดการเน่าเสียหากนำมาประกอบอาหารไม่ทัน
นำเศษอาหารมาทำปุ๋ย
เศษอาหารเหลือทิ้งก็มีประโยชน์ด้วยเช่นกัน เพราะสามารถนำมาทำเป็นปุ๋ยหมักชีวภาพ หรือน้ำหมักชีวภาพ สามารถขายต่อเพื่อเพิ่มรายได้ หรือนำไปใส่ต้นไม้ที่บริเวณบ้าน เป็นการใช้ประโยชน์จากเศษอาหารเหลือทิ้งให้เกิดประโยชน์สูงสุด
การบริโภคอาหารอย่างยั่งยืนนั้น ทุก ๆ คนสามารถทำได้โดยค่อย ๆ เรียนรู้และปรับวิถีการใช้ชีวิต เพียงเท่านี้เราก็สามารถช่วยลดปริมาณขยะ แถมยังได้ประโยชน์จากเศษอาหารเหล่านั้นด้วย